Date:
April 04, 22
High standard orchid production from Thailand
กล้วยไม้ถือเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยที่สร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล มีการส่งออกไปยังหลายประเทศทั่วโลกในปริมาณหลายพันตันต่อปี โดยเฉพาะกล้วยไม้ในเขตร้อนชื้น อย่างกล้วยไม้สกุลหวาย สกุลมอคคาร่า สกุลแวนด้า สกุลออนซิเดียม
วันนี้เราจะพามาบุกโรง Packing กล้วยไม้ ที่ตั้งอยู่ ณ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ชื่อว่า ไทยออคิดส์ โกลบอล ว่าเค้าจะมีขั้นตอนการส่งออกดอกกล้วยไม้อย่างไรบ้าง
ในการส่งออกกล้วยไม้นั้น มีสิ่งที่สำคัญที่ต้องคำนึงอยู่ 4 เรื่องด้วยกัน
- คุณภาพของดอกกล้วยไม้ (Good Quality)
- การบรรจุและบรรจุภัณฑ์ (Packing)
- การตรวจสอบแมลงที่มักพบในกล้วยไม้ (Good Control of Insect)
- การจัดส่งและจัดเตรียมเอกสารเพื่อการส่งออก (Documentation service)
ส่วนแรก คือ คุณภาพของดอกกล้วยไม้ สำหรับคุณภาพของกล้วยไม้ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการส่งออกเลยก็ว่าได้ ดังนั้น เราต้องคัดสรรเลือกฟาร์มกล้วยไม้ซึ่งเป็นต้นน้ำที่ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ที่มีคุณภาพ ปลอดจากโรคแมลง ตัดสดใหม่ตรงจากฟาร์มวันต่อวัน โดยวิธีสังเกตกล้วยไม้ที่มีคุณภาพนั้นให้ดูที่ช่อและดอกกล่าวคือ ดอกใหญ่ไม่ขึ้นเส้น ไม่มีตำหนิ ดอกไม่หลุดจากช่อง่าย ก้านช่อใหญ่ ฟอร์มช่อสวย ขนาดช่อได้มาตรฐาน
โดยทั่วไปการแบ่งขนาดกล้วยไม้เกรดส่งออกนั้นจะแบ่ง 4 ขนาดตามความยาวของช่อกล้วยไม้ ได้แก่ สั้นสุด (SS), สั้นสวย(S), ยาว(L), ซุปเปอร์(LL)
ต่อมาคือ การบรรจุและบรรจุภัณฑ์ เป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยประสบการณ์หรือทักษะในการกำเข้าช่อกล้วยไม้ เพราะหากไม่มีความชำนาญในการกำเข้าช่อพอ ดอกก็จะหลุดร่วงไม่สวยงาม ซึ่งการกำเข้าช่อที่ดีดอกจะต้องดูเต็ม ดอกหันไปด้านหน้าทั้งหมด
จากนั้นมาถึงขั้นตอนการบรรจุลงถุงและกล่อง หัวใจของขั้นตอนนี้คือ เราต้องรู้จักสรีระของกล้วยไม้แต่ละอย่างก่อนที่จะลงบรรจุ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการขนส่ง เพราะกล้วยไม้ต้องการความพิถีพิถัน ประกอบกับต้องเลือกบรรจุภัณฑ์ที่แข็งแรงเหมาะสำหรับการส่งออก ไม่เช่นนั้นอาจะเกิดความเสียหายระหว่างที่มีการขนส่ง
ในการส่งออกต่างประเทศ ประเทศปลายทางแต่ละประเทศล้วนมีข้อกำหนดและเงื่อนไขในการนำเข้าค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสินค้านั้นเป็นสินค้าเกษตร ทำให้เราต้องมีความเข้มงวดเรื่องการตรวจตัวแมลง ไม่ให้พบในสินค้าที่ส่งไป ไม่ว่าจะเป็นตัวแมลงหรือซากก็ตาม เพราะมีโอกาสที่แมลงนั้นจะไปเพาะพันธ์เป็น Alien Species ซึ่งอาจไปทำลายระบบนิเวศในประเทศปลายทางได้
โรง Packing นี้จึงกำหนดมาตรฐานในการตรวจสุขภาพอนามัยพืช หรือตรวจตัวแมลงไว้อย่างเข้มงวดถึง 2 ชั้น ได้แก่ ตรวจก่อนบรรจุลงถุงด้วยกล้องขยาย และตรวจหลังจากบรรจุแล้วด้วยตู้รมยาที่ผ่านการตรวจสอบและได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐแล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าตัวแมลงนั้นจะไม่เล็ดรอดไปกับสินค้าที่ส่งออก
โดยการรมยานั้นต้องรู้จักวิธีรมยาที่ถูกต้อง เพราะหากใช้ยาแรงเกินไปดอกกล้วยไม้ก็จะเสียหาย หรือในทางกลับกันหากอ่อนเกินไปแมลงก็อาจเล็ดรอดไปกับกล้วยไม้ และสร้างความเสียหายมหาศาล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศด้วย
เมื่อเราเตรียมสินค้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องจัดเตรียมเอกสารสำหรับการส่งออกให้ครบถ้วน โดยเอกสารจะมีอะไรบ้างนั้น ก็จะเป็นไปตามข้อกำหนดของประเทศปลายทาง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วก็จะมี Phytosanitary Certificate, Airway Bill ฯลฯ หลังจากนั้นเราก็จะนำสินค้าที่พร้อมแล้วแนบเอกสารส่งสู่สนามบินด้วยรถควบคุมอุณหภูมิเพื่อเตรียมส่งออกไปยังประเทศปลายทาง