The beginning of THAI ORCHIDS


Date:

April 04, 22

วันนี้มีโอกาสได้มาสัมภาษณ์คุณเจตน์ มีญาณเยี่ยม
ประธานกรรมการบริษัทในเครือ TOC Group จากคนก่อสร้าง..สู่เส้นทางกล้วยไม้ไทย


            คุณเจตน์เล่าว่า “ไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำ ไม่คิดมาก่อนว่าจะมาเป็นคนปลูกกล้วยไม้อย่างวันนี้” โดยถิ่นกำเนิดแล้วเป็นคนนนทบุรี ขณะที่ภรรยา ศรีทิพย์ มีญาณเยี่ยม เป็นคนบางมด อาชีพกล้วยไม้เป็นอาชีพครอบครัวภรรยา ซึ่งก่อนจะมาทำสวนกล้วยไม้
ตัวคุณเจตน์เองตอนเรียนมหาวิทยาลัยเอเชียก็อยู่คณะวิศวกรรมโยธา ทำอาชีพโฟรแมน แต่เมื่อจีบสาวบางมดทำให้ชีวิตคลุกคลีกับกล้วยไม้ และกลายเป็นจุดเปลี่ยนเมื่อแต่งงานกัน ตอนนั้นคุณแม่ภรรยาชักชวนให้ปลูกกล้วยไม้ เนื่องจากอยากให้ลูกทุกคนมีรายได้ที่มั่นคงนอกจากเงินเดือนประจำ

            “คุณแม่ภรรยาเห็นพี่ชายของภรรยาผมทำแล้วดี ก็เลยลงทุนให้โดยซื้อที่ดินให้ 1 ไร่เพื่อปลูกกล้วยไม้ที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ตอนนั้นผมกับคุณศรีทิพย์ก็ทำงานประจำอยู่ ผมเป็นโฟร์แมนรับเงินเดือน 4,500 บาท ขณะที่คุณศรีทิพย์เป็นครูได้รับเงินเดือน 2,000 กว่าบาท รายได้จากกล้วยไม้มากกว่าเงินเดือนผม 2 คนรวมกันอีก” รายได้จึงเป็นแรงจูงใจให้หันมาเริ่มทำอาชีพกล้วยไม้ 
จากที่เฉย ๆ พอได้เข้ามาสัมผัสคลุกคลีก็รู้สึกหลงใหลในกล้วยไม้ ผมจึงความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับกล้วยไม้อย่างสม่ำเสมอ จากสวนขนาด 1 ไร่ขยายไปเรื่อย ๆ จนปัจจุบันสวนมีพื้นที่ประมาณ 300 เรียกว่าเป็นฟาร์มระดับหัวแถวของไทยก็ว่าได้ โดยเรามุ่งเน้นถึงความหลากหลายของกล้วยไม้สายพันธุ์หวายและมอคคาร่าเป็นหลัก นอกจากนี้ผมยังมีกล้วยไม้สะสมอย่างกล้วยไม้หวายเกลียวด้วย

ถ้าเล่าย้อนไป อาชีพดั้งเดิมของบิดาผมเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ผมช่วยคุณพ่อมาตั้งแต่เด็ก ต่อมาผมขยับจากการเป็นโฟร์แมนมาเปิดบริษัทรับเหมาของตนเองรับช่วงต่อจากบิดา เพราะผมคิดว่าอาชีพรับเหมาก่อสร้างถือเป็นอาชีพที่ผมรักและผูกพัน ปัจจุบันก็ยังทำควบคู่กับกล้วยไม้อยู่ 

สำหรับผมแล้วการปลูกกล้วยไม้ นอกจากจะปลูกกล้วยไม้ได้ดีแล้ว ฟาร์มกล้วยไม้ของผมต้องไม่หยุดนิ่งต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ และสิ่งสำคัญคือความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย ผมเป็นคนแรก ๆ ที่เทพื้นคอนกรีตในฟาร์มเป็นซีเมนต์ แทนที่จะปล่อยให้เป็นดินแฉะๆ อย่างสวนเก่าๆ ที่เราเคยเห็น ตอนนั้นคนหาว่าผมเพี้ยน แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นสวนต้นแบบที่หลายๆสวนทำตาม

            “เพราะการเทปูนทำให้ทำงานสะดวกกว่าเดินบนพื้นแฉะๆ ต้องซื้อดินซื้อหินมาถมทุกปี สู้ทำครั้งเดียวดีกว่า ทั้งหมดเป็นวิธีคิดแบบผสมผสานอาชีพก่อสร้างกับอาชีพธุรกิจกล้วยไม้”

 


เมื่อพูดถึงการส่งออกที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่หนทางมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
            เริ่มจากลูกค้าอิตาลี ที่เจ้าของร้านขายบัวแนะนำมาให้ผม แล้วมาคะยั้นคะยอให้ร่วมทำธุรกิจร่วมกัน “เค้าบอกว่าทำเถอะ ให้เวลาเดือนหนึ่ง จะกลับมาซื้อ จริงๆตอนแรกผมไม่เอา คิดว่าทำก่อสร้างก็ดีอยู่แล้ว แต่นิสัยผม กล้าได้กล้าเสีย ก็คิดว่าลองสักตั้ง วัดใจเค้า เดือนหนึ่งไม่ใช่ปัญหา เพราะทำก่อสร้างอยู่แล้ว” จุดนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งออกดอกกล้วยไม้

            “ตอนนั้นผมล้มลุกคลุกคลาน เริ่มต้นเปิดบริษัทโดยมีหุ้นส่วนหลายคน ทำไปทำมาหุ้นส่วนก็เริ่มถอนหุ้น ทุนก็เริ่มลดน้อยถอยลง ตอนนั้นผมลงไปแค่ 25,000 ซึ่งถือว่าหุ้นเล็กมาก เพราะเพิ่งเรียนจบใหม่ ๆ ตอนทำก็เจอเช็คเด้งบ้าง ลูกค้าค้างจ่ายบ้าง พอหลายรายเข้าเลยขาดสภาพ หุ้นส่วนก็ตัดสินใจถอนหุ้นไปหมด ผมก็เลยตกลงกับลูกค้าอิตาลีให้ช่วยชำระเป็นรอบๆไม่มีเครดิต และตกลงกับหุ้นส่วนจะคืนเงินภายใน 1 ปี ต้องบอกว่าผมดิ้นรนและอดทนสู้กับอุปสรรคปัญหาต่างๆมามากมายจนมาถึงทุกวันนี้กว่า 30 ปี

 


 

ผมคิดว่าอาชีพก่อสร้างฝึกให้ผมเป็นคนที่กล้าตัดสินใจ กล้าได้กล้าเสีย ส่วนอาชีพเลี้ยงกล้วยไม้จะแตกต่างอย่างมาก ต้องประนีประนอม ใจเย็น ซึ่งการทำสองอาชีพควบคู่กันช่วยเสริมให้ลงตัวพอดี 

ครั้งหนึ่งเกิดวิกฤติเรื่องเพลี้ยไฟ ขณะที่ไม่มีใครกล้าชนแต่ผมลุยเลยเพราะปล่อยไปคนเลี้ยงกล้วยไม้จะมีแต่ตายกับตาย ครั้งนั้นต้องยอมรับเลยว่าความกล้าบางครั้งก็นำมาซึ่งภัย ผลลัพธ์ครั้งนั้นคือ ผมถูกจับตาอย่างเคร่งครัดจากหน่วยงานภาครัฐ จนทำให้ผมส่งออกกล้วยไม้ไม่ได้ “ครั้งนั้นผมบุกไปถึงหน่วยงานภาครัฐ ไปหน้าห้องอธิบดีเอากล้วยไม้ไปเทกล้วยไม้ไว้หน้าห้อง และท้าให้มาตรวจดูว่ามีเพลี้ยไฟจริงหรือไม่ ตอนนั้นผู้สื่อข่าวเต็มเลย สุดท้ายถูกขอร้องให้เคลียร์ให้จบๆ ไป ก็เลยจบไปได้ด้วยดี”

หากพูดถึงอนาคตของกล้วยไม้ การซื้อขายกล้วยไม้สามารถสร้างรายได้ทั่วโลกกว่า 5 แสนกว่าล้านต่อปี ในขณะที่ไทยเองส่งออกยังไม่ถึง 1% โอกาสการทำธุรกิจกล้วยไม้จึงมีอีกมาก แค่ขยับไปเป็น 5% ก็ช่วยเศรษฐกิจไทยได้มากแล้ว เพราะตอนนี้มูลค่าส่งออกปีละ 3 พันกว่าล้านเฉพาะดอก ถ้ารวมต้นก็ 5 พันกว่าล้าน ส่งออกไปในหลายประเทศญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป จีน อินเดีย จีน เวียดนาม ฯลฯ

            สิ่งที่อยากฝากเอาไว้เลยก็คือ “ผมว่าไม่ใช่ทุกคนต้องมานั่งปิดบังเก็บตัว เก็บความรู้กล้วยไม้ไว้ที่ตัวเองคนเดียว พอคุณตายความรู้นั้นก็หายไปหมด สมัยก่อนบางสวนปิดสวนไม่ยอมให้คนภายนอกเข้าชมสวน แต่สำหรับผม ใครจะเข้าชมสวนผมเปิดกว้าง เข้าชมเข้าศึกษาได้เลย เพราะผมคิดว่าความรู้นี้ไม่มีวันตาย มีแต่ต้องศึกษาเพิ่มและให้ความรู้คนอื่นด้วย” ปัจจุบันผมมีร่วมวิจัย
และส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับกล้วยไม้กับมหาลัยชั้นนำเพื่อสร้างสรรค์ความรู้เชิงวิชาการต่างๆมากมาย


            กล้วยไม้ไม่มีวันตาย มีแต่ขึ้น หรือลง เราแค่ทำให้มีคุณค่า มีเสน่ห์ในการขาย แล้วก็มองจุดที่จะขายได้ คนนั้นก็จะพบความสำเร็จ กลยุทธ์คือทำอย่างไรให้ลูกค้ามั่นใจ เชื่อถือเรา กล้วยไม้ก็เหมือนคน จะทำให้ได้ดี จะปลูกให้สวย ก็ต้องรู้จักกล้วยไม้ ก็ต้องรู้จักตัวเอง” คุณเจตน์กล่าวถึงบางด้านจากความสำเร็จของธุรกิจปลูกกล้วยไม้ขายด้วยความรักและบ้าในสายอาชีพกล้วยไม้ ทำให้คุณเจตน์ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิก ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทยถึง 4 สมัย (พ.ศ.2552-2560) ซึ่งนับเป็นผู้ดำรงตำแหน่งที่ยาวนานที่สุด และเมื่อพ้นวาระแล้วยังคงเป็นอุปนายกสมาคมผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทยจนถึงปัจจุบัน

widget